ข้อควรรู้เรื่อง พิธีแต่งงานแบบจีน พิธียกน้ำชา อย่างถูกต้องแบบธรรมเนียมจีน
การแต่งงานพิธีจีน มีรายละเอียดของพิธีการค่อนข้างมาก ตลอดจนสิ่งของที่ต้องตระเตรียม ในการจัดงาน การแต่งงานแบบจีนในประเทสไทยจึงมีการปรับตัวและ ตัดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นออกไปบ้าง เพื่อให้เหมาะกับสภาพความเป็นอยู่ของสังคมปัจจุบัน Grand Howard ของเราก็มีการจัดงานแต่งแบบจีนเช่นกัน เรามีข้อควรรู้เรื่อง พิธีแต่งงานแบบจีน พิธียกน้ำชา อย่างถูกต้องแบบธรรมเนียมจีน มาให้แล้ว มาดูกันได้เล้ย !
สิ่งที่ทางฝั่งบ้านเจ้าสาวต้องเตรียม
สิ่งของต่างๆที่ทางฝ่ายเจ้าสาวต้องจัดเตรียมเมื่อออกเรือนนั้น จะมีดังนี้
– เอี๊ยมแต่งงานซึ่งเป็นเอี๊ยมสีแดง ตรงอกเสื้อเอื้อมมีช่องกระเป๋าปักตัวอักษร “แป๊ะนี้ไห่เล่า” แปลว่า อยู่กินกันจนแก่เฒ่า ในกระเป๋าเอี๊ยมบรรจุห่อเมล็ดพืช 5 ชนิด มีความหมายว่าเจริญงอกงาม
– ต้นชุงเฉ้าหรือต้นเมียหลวง 2 ต้น และปิ่นทองที่ทำเป็นตัวลายภาษาจีนว่า “ยู่อี่” แปลว่า สมปรารถนา
– เชือกแดงสำหรับผูกเอี๊ยมมีตัวหนังสือ “ซังฮี้” มีแผ่นหัวใจสีแดงสำหรับติดเครื่องประดับทอง เครื่องประดับเพชร
– กะละมังสีแดง 2 ใบ
– ถังน้ำสีแดง 2 ใบ
– กระป๋องน้ำสีแดง 2 ใบ
– กระโถน 1 ใบ พร้อมกระจก กรรไกร ด้าย เข็ม ถาดสีแดง
และนอกจากนี้ของที่จัดเตรียม ต้องเป็นจำนวนคู่อย่างตะเกียบ ชุดน้ำชา พัดแดง สำหรับเจ้าสาวถือตอนส่งตัว อีกทั้งยังมีผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม 1 ผืน หมอน 1 ชุด ซึ่งจะมี 4 ใบ หรือ 5 ใบก็ได้ ประกอบไปด้วยหมอนข้าง 1 คู่ หมอนหนุนใบยาว 1 ใบ ซึ่งหมอนใบยาวนี้จะมีหรือไม่ก็ได้ ถ้าเจ้าสาวฐานะดีพ่อแม่อาจจะจัดเครื่องอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ให้ด้วย แล้วสุดท้ายยังมีหวีอีก 4 เล่ม ที่เป็นเคล็ดมงคลตามภาษาจีนเขียนว่า “ซี้ซี้อู่หอซิว” หมายถึงทุกๆเวลาจะได้มีทรัพย์

ทั้งนี้ทางฝ่ายเจ้าสาวจะต้องเตรียมกล้วย โดยต้องยกมาทั้งเครือเขียวๆ ถ้าได้จำนวนหวีเป็นเลขคู่ก็ถือว่ายิ่งดี และถ้าได้ลูกแฝดด้วยก็ถือว่าดีมาก เมื่อถึงเวลาที่ต้องใช้ให้เอากระดาษสีแดงพันก้านเครือและติดตัวหนังสือ ซังฮี่ บนเครือกล้วย โดยฝ่ายชายจะเป็นผู้เอากลับเมื่อทำพิธีสู่ขอเสร็จเรียบร้อยแล้ว ฝ่ายหญิงจะต้องเตรียมส้มเช้ง จำนวนคู่ ติดซังฮี่ด้วยเช่นกัน และต้องคืนขนมแต่งที่ฝ่ายชายให้มาซึ่งจะคืนให้ไปครึ่งหนึ่ง

ในคืนก่อนวันงาน ก็จะมีการอาบน้ำใบทับทิม เพื่อความเป็นสิริมงคลและปัดเป่าชำระสิ่งชั่วร้ายไปให้หมด จากนั้นจะสวมชุดใหม่และนั่งลงให้หญิงที่มีชีวิตคู่ที่สมบูรณ์พูนสุข หวีผมให้พร้อมกับกล่าวคำอวยพร
สิ่งที่ทางฝ่ายเจ้าบ่าวต้องต้องเตรียม
เครื่องขันหมากของเจ้าบ่าว

สินสอดทองหมั้น ( เพ้งกิม )
เพ้ง คือ เงินสินสอด แล้วแต่ฝ่ายหญิงจะเรียกร้อง แต่ถ้าเจ้าสาวยังมีอากง อาม่าหรือปู่ย่าอยู่ฝ่ายชายต้องจัดเงินอั้งเปาอีกก้อนหนึ่งให้เ ป็นพิเศษด้วยพร้อมชุดหมู 1 ชุดอีกต่างหาก โดยพ่อแม่เจ้าสาวจะเป็นผู้รับขึ้นมา กิม คือ ทอง แล้วแต่ฝ่ายหญิงจะเรียกเช่นเดียวกัน แต่ถ้าจะพิถีพิถันก็อาจขอเป็น ” สี่เอี่ยกิม ” แปลว่าทอง 4 อย่าง เพราะเลข 4 เป็นเลขดีของคนจีน ทอง 4 อย่าง เช่น กำไลทอง สร้อยคอทองคำ ตุ้มหูทอง เข็มขัดทอง

กล้วย
ต้องยกมาทั้งเครือเขียว ๆ ถ้าได้จำนวนหวีเป็นเลขคู่ยิ่งดี แล้วนับจำนวนให้ลงเลขคู่ ถ้าได้ลูกแฝดด้วยก็จะดีมาก เวลาใช้ให้เอากระดาษแดงพันก้านเครือและติดตัวหนังสือ ” ซังฮี่ ” บนเครือกล้วย และทาสีแดงบนลูกกล้วยทุกใบ และฝ่ายชายจะต้องเป็นผู้เอากลับ เมื่อพิธีสู่ขอเสร็จแล้ว กล้วยเป็นผลไม้ที่มี 2 นัยมงคล
– จำนวนผลที่มากมาย อวยพรให้มีลูกหลานสืบสกุลมาก ๆ
– ดึงสิ่งดี ๆ ให้มาเป็นของเรา ซัง แปลว่า คู่ ฮี่ แปลว่า ยินดี ซังฮี่ จึงแปลว่า ความยินดีของหญิงชายคู่หนึ่ง ซึ่งก็คือคู่บ่าวสาวนั่นเอง
อ้อย
อ้อย 1 คู่ ยกมาทั้งต้น เพื่ออวยพรให้ชีวิตคู่หวานชื่น แต่บางบ้านไม่เอา เพราะเป็นความหวานที่กินยากต้องทั้งปอกทั้งแทะ

ส้ม
ส้ม เป็นผลไม้มงคลให้โชคดี นิยมใช้ส้มเช้งเขียว ติดตัวหนังสือซังฮี่สีแดงทุกผล และต้องให้จำนวน เป็นเลขคู่แล้วแต่ฝ่ายหญิงกำหนด

ขนมหมั้น,ขนมแต่งงาน
ฝ่ายหญิงจะเป็นผู้กำหนดทั้งชนิดและจำนวน การกำหนดชนิดคือ จะให้เป็นขนม 4 สี เรียกว่า ” ซี้เส็กหม่วยเจี๊ยะ ” หรือขนม 5 สี เรียกว่า ” โหงวเส็กทึ้ง ” ประกอบด้วย ขนมเหนียวเคลือบงา, ขนมเปี๊ยะโรยงา, ขนมถั่วตัด, ขนมข้าวพองทุบ และขนมโก๋อ่อน นอกจากนี้บางบ้านอาจขอให้มีน้ำตาลทราย, ซาลาเปาไส้หวาน, และคุกกี้กระป๋องด้วย โดยจำนวนของขนมแต่งงานและคุกกี้กระป๋อง ฝ่ายหญิงมักกำหนดจำนวน โดยนับจากจำนวนของญาติมิตรที่จะเชิญ มีคำเรียกการให้ขนมแต่งงานแก่ญาติมิตรว่า ” สั่งเปี้ย ” สั่ง หรือ ซั้ง แปลว่า ให้ เปี้ย แปลว่า ขนม ในที่นี้หมายถึงขนมหมั้นหรือขนมแต่งงาน
ชุดหมู เท่าที่พบจะมีประมาณ 3 ถาด
– ถาดที่ 1: เป็นชุดหัวหมูพร้อม 4 เท้าและหาง โดยเล็บเท้าต้องตัดเรียบร้อยติดตัวหนังสือซังฮี่
– ถาดที่ 2: เป็นถาดขาหมูสดติดตัวซังฮี่เช่นเดียวกัน
– ถาดที่ 3: เป็น” โต้วเตี้ยบะ” เท่านั้น คือเป็นเนื้อหมู ตรงส่วนท้องของแม่หมู เพื่ออวยพรให้เจ้าสาวได้เป็นแม่คน แม่ที่อุ้มท้องเพื่อให้กำเนิดบุตรแก่ฝ่ายชายและมีธรรมเนียมว่าทางฝ่ายหญิง ก็ต้องให้ชุดหมูสดตอบแทนแก่ฝ่ายชาย แต่ชุดหมูของฝ่ายหญิงจะเป็นชุดหัวใจหมูที่ต้องสั่งพ่อค้าเป็นพิเศษว่าเป็นชุดหัวใจทั้งยวงที่ยังมีปอดและตับติดอยู่ด้วยกัน เมื่อเสร็จพิธี ชุดหัวใจนี้อาจทำได้เป็น 2 แบบ
– แบบ 1: คือ ฝ่ายหญิงแบ่งชุดหัวใจให้ฝ่ายชายไปครึ่งหนึ่ง
– แบบ 2: คือ เอาชุดหัวใจนี้ไปประกอบอาหารให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวรับประทานร่วมกัน เพื่อเป็นเคล็ดอวยพรให้หญิงชายมีจิตใจร่วมกันเป็นใจหนึ่งใจเดียวกัน
ของเซ่นไหว้ที่บ้านเจ้าสาว
ฝ่ายชายต้องเตรียมของไหว้ 2 ชุด
– ชุด 1: สำหรับไหว้เจ้าที่
– ชุด 2: สำหรับไหว้บรรพบุรุษ
การจัดเตรียมของไหว้ที่ครบถ้วน จะต้องมีทั้งของคาว ขนมไหว้ ผลไม้ไหว้ เหล้า อาหาร 10 อย่าง ธูปเทียนดอกไม้ และมีของไหว้พิเศษ คือเส้นหมี่ เพื่ออวยพรให้ชีวิตคู่ยืนยาว และนิยมหาเถ้าแก่ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่นับถือและมีชีวิตครอบครัวที่ดีมาเป็นผู้นำขบวนหรือช่วยถือของขันหมาก เพื่อเป็นสิริมงคล
หลังจากที่ไปดูสิ่งที่ต้องเตรียม ต่อไปก็ถึงขั้นตอน พิธีแต่งงานแบบจีน มี 6 ขั้นตอนด้วยกัน
1. ดูฤกษ์แต่งงาน

สิ่งแรกที่เราต้องทำก่อนหรือเป็นจุดเริ่มต้นก็คือการดูฤกษ์งามยามดีนี่แหละ เพราะเป็นงานมงคลจึงต้องใส่ใจเป็นพิเศษนั่นเอง เมื่อได้วันที่แน่นอนมาแล้วเจ้าสาวก็ต้องเตรียมสิ่งของเพื่อออกเรือน เช่น ของใช้ส่วนตัว เสื้อผ้าใหม่เพื่อถือเคล็ดว่าให้ใส่ต้อนรับชีวิตใหม่ เป็นต้น ส่วนเจ้าบ่าวก็ต้องเตรียมสินสอดทองหมั้นเพื่อไปขอเจ้าสาว
2. เจ้าบ่าวยกขบวนขันหมากมารับเจ้าสาว


เมื่อถึงฤกษ์งามยามดีแล้ว เจ้าบ่าวก็จะยกขบวนขันหมากไปที่บ้านของเจ้าสาว และเมื่อมอบสินสอดและเครื่องขันหมากเสร็จเรียบร้อยก็จะทำการสวมแหวน จากนั้นผู้ใหญ่ก็จะให้พรและเชิญแขกเหรื่อที่มาร่วมงานกินเลี้ยงกัน
3. เจ้าบ่าวรับตัวเจ้าสาวออกเรือน

เจ้าสาวที่แต่งตัวเรียบร้อยแล้วจะทานอาหารกับครอบครัวเพื่อรอเจ้าบ่าวมารับ เมื่อถึงเวลาที่เจ้าบ่าวมารับตัว ในขั้นตอนนี้บางบ้านอาจจะมีกั้นประตูด้วย จากนั้นก็จะทำการไหว้ฟ้าดิน ไหว้เจ้าที่เจ้าทาง ไหว้บรรพบุรุษด้วย เมื่อไหว้เสร็จแล้วก็จะทำการยกน้ำชาให้พ่อแม่ของเจ้าสาว เมื่อถึงเวลาที่จะออกจากบ้าน คู่บ่าวสาวต้องทานขนมอี้ก่อน เสร็จแล้วพ่อเจ้าสาวจะส่งเจ้าสาวไปกับเจ้าบ่าว โดยที่มีญาติผู้ชายฝั่งเจ้าสาวถือตะเกียงนำขบวนเพื่อถือเคล็ดให้คู่บ่าวสาวมีลูกชายเพื่อสืบสกุลนั่นเอง
4. พิธียกน้ำชา

ก่อนหน้านี้ได้มีการยกน้ำชาให้ผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวไปแล้ว คราวนี้ก็เป็นการยกน้ำชาให้ญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายเจ้าบ่าวบ้าง เมื่อญาติผู้ใหญ่นั่งกันพร้อมหน้าแล้วคู่บ่าวสาวคุกเข่าและรินน้ำชาให้ ญาติผู้ใหญ่เมื่อดื่มแล้วก็จะให้ศีลให้พรและเงินเพื่อเอาไว้ใช้ตั้งตัวด้วยนะ
5. ส่งตัวเข้าหอ


ในขั้นตอนส่งตัวเข้าหอนี้ ผู้ใหญ่จะเป็นคนปูเตียงให้ เสร็จแล้วก็จะวางส้มไว้ที่หัวมุมเตียงด้วย และเอาส้มอีก 4 ผลใส่จานที่มีตัวซังฮี้กับใบทับทิมไปวางไว้ที่กลางเตียง
6. คู่บ่าวสาวกลับไปเยี่ยมบ้านฝ่ายหญิง

เมื่อผ่านคืนแต่งงานแล้ว เจ้าสาวจะต้องทำการยกน้ำล้างหน้าให้พ่อแม่ของฝ่ายเจ้าบ่าวเป็นเวลา 3 วันด้วยกัน ซึ่งบางบ้านก็จะเป็น 7 วัน 15 วัน ก็แล้วแต่ฤกษ์มงคลของแต่ละคน จากนั้นญาติผู้ชายฝ่ายเจ้าสาวจะมารับตัวเจ้าสาวกลับไปเยี่ยมที่บ้าน ซึ่งเจ้าสาวต้องเตรียมส้ม 12 ผล ใส่ถาดกลับบ้านไปด้วย และเมื่อถึงแล้วคู่บ่าวสาวจะทำพิธียกน้ำชาให้พ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาว สุดท้ายก็รับประทานอาหารอย่างพร้อมหน้ากัน